ตามความเข้าใจผม งานหลัก ๆ ของ ผู้บริหารจัดการทรัพยากรกายภาพนี้ มีหน้าที่ในการดูภาพรวมของการบริหารทรัพยากรอาคาร ซึ่งจะมีงานหลัก ๆ เปรียบเหมือนขาสี่ขา คือ
๑.บริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์(Property Management)
๒.บริหารจัดการพื้นที่ใช้สอย(Facilities Planning)
๓.บริหารจัดการงานบำรุงรักษาอาคาร(Facilities Operations and Maintenance)
๔.บริหารจัดการงานบริการที่เกี่ยวข้อง (Facilities Support Service)
บริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ (Property Management)
หมายถึง การดำเนินนโยบาย เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจในการจัดหาอาคาร หรือ สถานที่ เพื่อการใช้ดำเนินธุรกิจ เช่น การเช่า การซื้อ หรือ การสร้าง เพื่อให้สามารถใช้อสังหาริมทรัพย์นั้น ๆ อย่างคุ้มค่า และสนองประโยชน์สูงสุดกับองค์กร (ไม่เกี่ยวกับการเก็งกำไรที่ดิน หรืออาคาร)
บริหารจัดการพื้นที่ใช้สอย (Facilities Planning)
หมายถึง การกำหนดนโยบาย และแผนงานในการใช้พื้นที่อาคาร และสถานที่ให้ได้ตรงตามเป้าหมายขององค์การ และมีความคุ้มค่า และตอบสนองประโยชน์สูงสุดกับองค์กร ประโยชน์สูงสุดในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า ใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้ว อย่างแออัดจะได้ประโยชน์สูงสุด หากแต่ใช้ได้ตอบสนองรูปลักษณ์ และการดำเนินงานขององค์กร
บริหารจัดการการบำรุงรักษาอาคาร (Facilities Operations and Maintenance)
หมายถึง การกำหนดนโยบาย และแผนงานในงานด้านการบำรุงรักษา เป้าหมายคือ การประหยัดค่าบำรุงรักษา และยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์อาคาร ซึ่งนำไปสู่ การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) หรือการบำรุงรักษาเชิงคาดการได้ (Predictive Maintenance) ในการตัดสินใจด้านนี้ ต้องอาศัยความรู้หลักด้านงานระบบ ประกอบกับการจดบันทึกข้อมูล และการวิเคราะห์สถิติต่าง ๆ ประกอบกัน
บริหารจัดการบริการที่เกี่ยวข้อง (Facilities Support Service)
หมายถึง การกำหนดนโยบาย และแผนงานต่อบริการต่าง ๆ ที่มีส่วนสนับสนุนกับการดำเนินงานหลักขององค์กร เช่น ระบบงานรักษาความปลอดภัย งานทำความสะอาด เป็นต้น
แต่งานด้านบริหารจัดการทรัพยากรกายภาพในประเทศไทย อาจยังมีกรอบการทำงานอยู่ในแค่งานด้านบำรุงรักษาอาคาร หรือ การจัดการพื้นที่ใช้สอย (ผมไม่แน่ใจว่า เกิดจากการที่ผู้ที่ไปเรียนต่อทางด้าน FM นี้ ส่วนมากจะเป็นสถาปนิก หรือวิศวกรหรือไม่นะครับ)
ส่วนงานด้านอสังหาริมทรัพย์ และงานจัดการบริการที่เกี่ยวข้อง อาจปล่อยเป็นหน้าที่ของผู้บริหาร หรือ งานธุรการ อยู่ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว หากงานทั้งสี่ส่วน สามารถอยู่ภายใต้การบริหารแบบองค์รวม หรือการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เป้าหมายที่จะได้ "ประโยชน์สุข" จากทรัพยากรอาคารที่มีอยู่ จะอยู่ไม่ไกล
บางส่วนจากหนังสือ "The Facilities Manager's Reference" ของ Prof.Harvey H.Kaiser,Ph.D.
คุณ "สิทธัตถะ เอมเมอรัล" TGT3
11 years ago
No comments:
Post a Comment