Wednesday, August 01, 2007

FM ช่วยลดภาวะโลกร้อน

FM ช่วยลดภาวะโลกร้อน
ช่วยได้อย่างไรได้บ้าง มีมากมายหลายวิธี
- การใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า ช่วยยืดระยะไม่ให้องค์กรต้องเพิ่มการก่อสร้างอาคารใหม่ๆ ลงไปได้
- การเลือกสถานที่ตั้งของที่ทำงานให้เหมาะสมกับที่พักของพนักงาน เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงในการเดินทางของพนักงาน
- การจัดการให้การจราจรเคลื่อนที่อย่างสะดวก การทำความสะอาดอย่างมีประสิทธิภาพลดการใช้สารเคมี การใช้น้ำประปาได้
- การรณรงค์การใช้ทุกอย่างอย่างมีประสิทธิภาพ
- การใช้หลอดตะเกียบแทนหลอดใส้
- การเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ห้า การใช้กระดาษสองหน้า
- การแยกขยะ การรีไซเคิลอย่างถูกวิธี
- การรณรงค์การซื้อสินค้าภายในประเทศและชุมชน
- การลดใช้กระดาษฟอกขาวโดยไม่จำเป็น
- การใช้พลังงานไฟฟ้าให้คุ้มค่า ด้วยการบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ
- การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ หรือออกแบบตัวอาคารที่สามารถนำแสงจากธรรมชาติมาใช้งานให้ได้มากที่สุด
- การออกแบบตัวอาคารให้ลดภาวะการทำงานของเครื่องปรับอากาศ
- การเปิดปิดไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ น้ำประปา ให้คุ้มค่ากับการใช้งาน
- การบริหารการจราจรภายในองค์กรให้เหมาะสม
- ลดการเดินทางด้วยการใช้โทรศัพท์ และเพิ่มการประชุมผ่านระบบอินเตอร์เนท
ฯลฯ

ลองมามองในฐานะนักวิชาชีพบริหารอาคารดูสิครับ ว่าเราสามารถลดภาวะโลกร้อนได้มากขนาดไหน?
คำถามนี้ ไม่ใช่คำถามที่เป็นนามธรรมหากลองพิจารณาแนวคิดหรือหน่วยวัดที่เรียกว่า “รอยย่ำคาร์บอน” ที่สามารถแยกย่อยรายละเอียดออกมาเป็นหน่วยวัดในการเพิ่มภาวะโลกร้อน
แล้วจะวัดผลได้อย่างไร?
เดิมทีการช่วยโลกร้อน อาจยากที่การวัดผลอย่างที่เป็นรูปธรรม แต่ปัจจุบัน มีหน่วยในการวัดภาระการทำให้โลกร้อนแล้ว คือ “Carbon Footprint” มาช่วยเป็นหน่วยวัดค่า ให้เห็นผลความแตกต่างอย่างชัดเจนได้ในการรักษาสภาวะแวดล้อมโลก

“Carbon Footprint”

“Carbon Footprint” หรือ “รอยย่ำคาร์บอน” คืออะไร?
“รอยย่ำคาร์บอน”* เป็นหน่วยวัดผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ ในแง่ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อย โดยวัดจากหน่วยของคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ CO2
(* รอยย่ำคาร์บอน มากจากคำว่า Carbon Footprint หลายคนอาจแปลเป็นไทยว่า รอยเท้าของคาร์บอน แต่ผมของแปลว่า รอยย่ำ เพราะมันคือ รอยเหยียบที่เราย่ำ ลงบนโลก)
“รอยย่ำคาร์บอน” มาจากผลรวมจากกิจกรรมสองส่วนหลักคือ ทางตรง และทางอ้อม
“รอยย่ำคาร์บอนทางตรง” คือการที่เราปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรงจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงจากซากพืชซากสัตว์ รวมถึงการบริโภคไฟฟ้า และการใช้ยานพาหนะต่างๆ เช่น การใช้ไฟฟ้า การเดินทางโดยใช้เครื่องบิน
“รอยย่ำคาร์บอนทางอ้อม” คือ การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากผลผลิต หรือ ผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ โดยคำนวณร่วมกับกระบวนการผลิต เช่น การใช้ถุงพลาสติก ผลิตภัณฑ์จากโฟม ฯลฯ

กลเม็ดในการลดขนาด “รอยย่ำคาร์บอนทางตรง”
1. ลดการเดินทางโดยเครื่องบิน(บทความไม่ได้ให้เหตุผล แต่พอเดาได้ว่า การโดยสารเครื่องบิน มีต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ มากกว่าการเดินทางแบบใดๆ)
2. รณรงค์การใช้พลังงานนำมาใช้ใหม่ได้ เช่น พลังน้ำ พลังลม พลังแสงอาทิตย์
3. ใช้พลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ในการทำน้ำร้อนร้อน (ในบทความน่าจะพูดในบริบทแค่ประเทศเมืองหนาว แต่ในบริบทของประเทศไทย ลองมองว่า ไม่ต้องใช้น้ำอุ่นตอนอาบน้ำก็อาจจะได้ เพราะ ไม่เปลืองพลังงานทั้งเครื่องทำน้ำอุ่น และยังชลอการเปิดเครื่องปรับอากาศไปได้)
4. ใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
5. รณรงค์การใช้รถร่วมกัน

กลเม็ดลดขนาด “รอยย่ำคาร์บอนทางอ้อม”
ในการซื้อสินค้า ให้ใส่ใจกับสถานที่ที่ผลิต และกระบวนการที่ผลิตสินค้านั้นๆ กล่าวคือ ให้พยายามเลี่ยงสินค้าที่ต้องมีการขนส่งจากที่ห่างไกล และกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก เช่น
1.น้ำขวด แม้น้ำจากก๊อกจะดื่มได้ (ในบางประเทศ) แต่คนเราก็ยังจะหาซื้อน้ำดื่มที่เป็นขวดอยู่ มากกว่าน้ำ ยังเสาะหาน้ำแร่จากแหล่งห่างไกล ซึ่งเป็นการขยากขนาดรอยเท้าคาร์บอนจากการขนส่ง รวมถึงกระบวนการผลิตขวด และการนำขวดมาใช้ใหม่
2. เลี่ยงการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มจากแหล่งห่างไกล เมื่อเดินเลือกซื้อสินค้าในตลาด จงเลือกสินค้าจากฉลากสินค้าที่ผลิตในประเทศ หรือ ประเทศในภูมิภาคเป็นอันดับต้นๆ มากกว่า สินค้าที่ผลิตจากประเทศที่ห่างไกล สุดยอดกว่านั้นคือ ปลูกเองกินเองเลย การมีต้นกล้วยหลังบ้าน ไม่เพียงเป็นผลไม้ที่รอยเท้าคาร์บอนเป็นศูนย์เท่านั้น แต่ต้นไม้ที่เราปลูก ยังช่วยลดคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ได้อีกด้วย หรือเรียกได้ว่า เป็นการลบรอยย่ำของคาร์บอน
3. การบริโภคเนื้อให้น้อยลง โดยเฉพาะ เนื้อแดง (อันนี้บทความไม่ได้ให้เหตุผล แต่เคยได้ยินว่า พวกวัวเนื้อ หมู มีการบริโภค และปล่อยของเสียที่เป็นสัดส่วนมากกว่าสัตว์ที่ให้เนื้อสีขาว อย่าง ปลา และ ไก่ หลายเท่านัก)
4. เสื้อผ้า ตอนเลือกซื้อเสื้อผ้า ให้ดูฉลากดีๆ ว่าเสื้อผ้าที่คุณใส่ผลิตที่ไหน ลองคิดถึงกระบวนการขนส่งของมันดูสิ
5. พิจารณาเรื่องหีบห่อผลิตภัณฑ์ เลี่ยงการใช้ห่อผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่ถุงพลาสติกหิ้ว ที่ไม่จำเป็น เช่น ถ้าซื้อของเล็กๆ น้อยๆ สามารถถือได้ ก็ไม่จำเป็นของให้คนขายใส่ถึงพลาสติก
โดยในเครื่องคำนวณ “รอยย่ำคาร์บอน” มีการให้กรอกข้อมูลหลักๆ ดังนี้
- ปริมาณไฟฟ้า
- ปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้
- ระยะทางการเดินทางด้วยยานพาหนะต่างๆ เช่น รถส่วนตัว ระบบขนส่งมวลชน เครื่องบิน


ที่มา http://www.carbonfootprint.com/carbon_footprint.html วันที่ 25 ก.ค. 50

Wednesday, May 30, 2007

ห้องน้ำ กับ เอกลักษณ์องค์กร

ห้องน้ำ หรือ ส้วม ใครคิดว่าไม่สำคัญ หากมองในแง่ของคนทั่วไป พื้นที่ห้องน้ำ เป็นพื้นที่ที่มีแต่รายจ่าย ที่ต้องการการบำรุงรักษา ทำความสะอาด ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ก่อเกิดรายได้ แต่หากวิเคราะห์ในแง่การบริหารจัดการทรัพยากรกายภาพ ห้องน้ำ อาจพลิกกลับกลาย “เรือธง” ในการสร้างเอกลักษณ์องค์กร หรือ สร้างแบรนด์ ได้เลยทีเดียว

สถานีบริการน้ำมันเจ็ท
เป็นที่รู้กันว่าหากต้องการเข้าห้องน้ำที่สะอาด มั่นใจได้ระหว่างการเดินทาง ตัวเลือกแรกๆ ของนักเดินทางคงหนีไม่พ้น “ปั้มเจ็ท” แม้มีหลายปั้ม จะเคยขึ้นว่า “ห้องน้ำสะอาด” แต่เมื่อผู้คนเข้าไปใช้แล้ว กลับผิดหวัง ก็ทำให้การชวนเชื่อ หมดความเชื่อถือไป จนเรียกได้ว่า ปั๊มเจ็ท เป็นผู้นำกลยุทธ “ห้องน้ำสะอาด” กลับมาใช้อีกครั้งอย่างได้ผล
เมื่อกลายจุดแวะพักหลักของการเดินทาง จนทำให้ ปั้มเจ็ท ดูเนืองแน่นไปด้วยผู้คนตลอดมา โดยเฉพาะ หน้าเทศกาล ส่งผลให้ธุรกิจต่อเนื่องอย่าง น้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ Jiffy บ้านไร่กาแฟ ฯลฯ ได้ผลพลอยได้ไปด้วย
หากวิเคราะห์ถึงการสร้างแบรนด์ของเจ็ท ด้วยห้องน้ำสะอาดนั้น คงไม่ใช่มีเพียงแค่การทำความสะอาดบ่อยครั้งกว่าสถานีบริการน้ำมันอื่นๆ อย่างเดียว แต่มันคือกรณีศึกษาของ “การบริหารจัดการทรัพยากรอาคาร” อย่างครบถ้วน ตั้งแต่กลยุทธด้านอสังหาริมทรัพย์ การวางผังภายในสถานีบริการ งานระบบที่เกี่ยวข้อง จนถึงงานบริการด้านทำความสะอาด
การวางยุทธศาสตร์ด้านอสังหาริมทรัพย์ (Property Management) เรื่องตำแหน่งที่ตั้งของแต่ละสถานีน้ำมันที่มักจะมีเป็นคู่ ทั้งฝั่งซ้ายและขวา หรือระยะสาขาที่พอเหมาะ พอดี สำหรับการพักรถของนักเดินทาง การวางผัง (Facilities Planning) ภายในที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ที่ขณะเติมน้ำมัน จะเป็นร้านสะดวกซื้อ อยู่ตรงหน้า ห้องน้ำอยู่ทางซ้ายมือ และมีบริการอื่นๆ เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหารอยู่ถัดๆ ไป

ไม่ใช่แค่เพียง ผังพื้นห้องน้ำที่เหมือน หรือคล้ายกันทุกสาขา ที่ไม่ก่อให้เกิดความสับสน กลายเป็นความคุ้นเคย นำไปสู่ความสะดวก และอุ่นใจในการใช้งาน สำหรับการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างห้องน้ำก็ทำให้การบริหารจัดการเรื่องความสะอาด (Support and Service Management) และการบริหารงานก่อสร้าง (Construction Management) ง่ายขึ้นมาก
การทำระบบสุขาภิบาลให้เป็นมาตรฐานเดียว ย่อมง่ายต่อการบำรุงรักษา (Maintenance and Operation) ตรวจพบปัญหา และหาวิธีแก้ไข เกิดการเก็บข้อมูล และพัฒนาพร้อมมาตรฐานการทำความสะอาด ทั้งอุปกรณ์ น้ำยา วิธีการ ความถี่ในการเข้าทำความสะอาด ฯลฯ
ทั้งหมดนี้คือเบื้องหลังของการสร้างแบรนด์ การสร้างเอกลักษณ์องค์กร (Corporate Identity) ทำให้ทุกสาขาของเจ็ท มีมาตรฐานเดียวกัน ตั้งแต่เรื่องความสะอาด ผังพื้น หรือแม้แต่เรื่องรายละเอียดของกลิ่นน้ำยาทำความสะอาดเลยทีเดียว
แม้ธุรกิจหลักด้านน้ำมันของ ปั้มเจ็ท จะไม่ประสบความสำเร็จด้านตัวเลข เนื่องจากเหตุผลของกลไกของธุรกิจน้ำมัน และราคาโรงกลั่น จนต้องขายธุรกิจให้กับ ปตท.ในที่สุด แต่เมื่อมองกลับไป การขายได้ราคาสูงกว่า ราคาจริงๆ ของเพียงแค่ ที่ดิน อาคาร และสินค้านั้น ส่วนหลักๆ คือ ราคาของแบรนด์ ราคาของประสบการณ์นักเดินทาง ที่อยากเข้าห้องน้ำสะอาดอย่างมั่นใจ ต้องปั้มเจ๊ท และเป็นที่เชื่อได้ว่า ปตท. คงไม่กล้าทำลาย หรือละทิ้งแบรนด์ และเอกลักษณ์ของ เจ็ทไปอีกนาน

ห้างแฮรอท เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ
การตกแต่งภายในที่หรูหราฟู่ฟ่า ประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของห้าง สินค้าคุณภาพที่เลือกสรรค์มาแล้ว ขบวนพาเหรดปี่สก๊อต ล้วนแล้วแต่เป็นเอกลักษณ์ของแฮรอท (Harrods) แต่หลายคนอาจมองข้ามสิ่งเล็กน้อยอย่างหนึ่ง ที่ช่วยส่งเสริมเอกลักษณ์ของแฮรอทให้โดดเด่น และยาวนาน นั่นคือ ห้องน้ำ
ภายในห้องน้ำของห้างแฮรอท มีการตกแต่งด้วยหินอ่อน กระจกลายทองย้วย โคมไฟระย้า กลิ่นฟุ้งน้ำหอม และยังมีบริกร ในชุดหรูผูกหูกระต่าย หรือที่เรียกว่า Butler ประจำห้องน้ำ คอยส่งผ้าขนหนูคุณภาพดี ให้กับลูกค้าเมื่อล้างมือเสร็จ แม้จะเป็นประสบการณ์เพียงชั่ววูบของการเป็นผู้ดีอังกฤษ ในการมี Butler ในคฤหาสน์หรู ก็เป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้กับตัวห้างได้อย่างมากเลยทีเดียว
เบื้องหลังคงมีมากกว่าการตกแต่ง และเอาบริการหนึ่งคนมาแต่งตัวประจำห้องน้ำ แต่รวมไปถึงการฝึกฝนบุคลากรให้หน้าตายิ้มแย้ม พร้อมรับใช้แขกผู้มีเกียรติทุกท่าน การเลือกสรรกลิ่น การเลือกสรรสไตล์ในการตกแต่ง พร้อมบริการที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย ตั้งแต่การจัดตารางการทำความสะอาดในเวลาที่มีผู้ใช้น้อย การซักผ้าเช็ดมือ การเติมสบู่ล้างมือ ฯลฯ

สนามบินสุวรรณภูมิ
เมื่อเริ่มเปิดใช้อาคารสนามบินสุวรรณภูมิ ปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้เข้าใช้บริการมากที่สุด คือ ห้องน้ำ ที่ไม่พอ และไม่สะอาด โดยปัญหาเกิดจากหลายสาเหตุคือ จำนวนผู้ใช้ที่มีมากกว่าปกติในช่วงแรก ห้องน้ำไม่เพียงพอ พนักงานทำความสะอาดไม่ทัน ลักษณะสุขภัณฑ์ไม่เหมาะสมต่อการใช้งาน ฯลฯ จากหลายสาเหตุ แต่ผลออกมาตรงกันคือ ความไม่สะดวก เสียงบ่น และภาพลักษณ์ที่เป็นลบสำหรับสนามบินแห่งใหม่ของประเทศไทย

ในสนามบินต่างประเทศ เช่น อินชอน ของเกาหลีใต้ เป็นสนามบินติดอันดับหนึ่งด้านความสะอาดทั่วไป จาก Skytrax ผู้จัดอันดับสายการบิน และสนามบินทั่วโลก สำหรับในการจัดการความสะอาดห้องน้ำ มีการติดรูปผู้รับผิดชอบในความสะอาดของห้องน้ำบนผนังก่อนทางเข้าของห้องน้ำ เพื่อให้คนทำความสะอาดมีความรับผิดชอบ และมีส่วนร่วม ในการได้คำติชมในการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม
หากสนามบินสุวรรณภูมิมีแนวคิดจะปรับปรุงการให้บริการ อาจนำกรณีศึกษาของสนามบิน อินชอน เป็น Best Practice ได้ เพื่อเป็นแนวทาง และเป้าหมายสู่ความเป็นเลิศได้ และเป็นข้อพิสูจน์สำหรับนักบริหารจัดการทรัพยากรอาคาร (Facilities Manager) ว่า ทุกอย่าง ช่วยได้ด้วยการจัดการ

เห็นได้ว่า หากลองเปลี่ยนมุมมอง และวิเคราะห์ดีๆ แล้ว ห้องน้ำอาจไม่เป็นเพียงแค่ส่วนอำนวยความสะดวก ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาด และบำรุงรักษา แต่ห้องน้ำ อาจเป็นส่วนที่สร้างเอกลักษณ์องค์กร หรือเป็นแม่เหล็กให้กับโครงการได้ ในทางกลับกันห้องน้ำนี่เอง กลับกลายเป็นภาพลักษณ์ในแง่ลบของโครงการได้อย่างคาดไม่ถึงเช่นเดียวกัน

อ้างอิง
- http://www.jet.co.th/index_app.php, 30 พฤษภาคม 2550
- http://www.checkairport.com, 30 พฤษภาคม 2550
- http:// http://www.worldairportawards.com, 30 พฤษภาคม 2550

Sunday, April 08, 2007

IT กับ FM, 1+1 ไม่เท่ากับ 2

วิธีการเพื่อบรรลุอรรถประโยชน์ ในการผสานฝ่าย IT กับ FM
ฝ่ายบริหารอาคาร กับ ไอที หากทำงานประสานกัน จะเกิดประโยชน์มากมาย เหมือนเป็นการพิสูจน์คำพูดที่ว่า "หนึ่งบวกหนึ่ง ไม่เท่ากับสอง"
แต่การประสานงานกันนั้น ต้องมีวิธีการที่จะได้บรรลุประโยชน์เหล่านั้นมา เช่น วิธีการสื่อสารกันระหว่างแผนก วิธีการวางแผนร่วมกัน ฯลฯ ซึ่งประโยชน์เหล่านี้ จะไม่เป็นเพียงประโยชน์ต่อองค์กร แต่จะกลับกลายเป็น "ประโยชน์สุข" ให้กับผู้ทำงานทุกฝ่ายได้ด้วย

เริ่มที่ความต้องการพื้นฐาน
สำหรับฝ่ายไอที งานส่วนหนึ่งคือการดูแลรักษาอุปกรณ์ไอที เช่น เซิฟเวอร์ คอมพิวเตอร์ สายเคเบิล ฯลฯ หากมองในแง่ ความต้องการภายใต้สภาพแวดล้อมกายภาพ ของอุปกรณ์เหล่านั้น คือ
"ระบบไฟฟ้า" ที่พอเพียง และแน่นอนสม่ำเสมอ "อุณหภูมิ และความชื้น" เพื่อให้ระบบสามารถระบายความร้อนจากอุปกรณ์ได้ เพื่อให้ทำงานได้อย่างไม่มีปัญหา และลดความเสียหายจากความร้อน "พื้นที่ในการวางอุปกรณ์ และสายเคเบิล"
สำหรับฝ่ายอาคาร ที่ต้องวางแผนการใช้พื้นที่ เพื่อรองรับการขยายตัว ควรสื่อสารกับฝ่ายไอที โดยคาดการณ์การขยาย ของระบบ และอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ล่วงหน้า โดยต้องคำนึงถึงมิติของ พื้นที่ และระบบสนับสนุน เช่นระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ ไว้ล่วงหน้าด้วยพร้อม ๆ กันในการเดินสายเคเบิล คงไม่ดีแน่ที่ ในสำนักงานหนึ่ง มีสายเคเบิลระโยงระยางไปทั่วอย่างไม่มีระเบียบ ความต้องการอาจต้องพบกันที่จุดใดจุดหนึ่ง ระหว่าง เส้นทางที่สั้นที่สุด กับเส้นทางที่เป็นระเบียบ โดยทั้งหมดนี้ สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการสื่อสารซึ่งกันและกันระหว่างทั้งสองฝ่าย

การสื่อสาร "พูดภาษาเดียวกัน"
การพูดภาษาเดียวกัน เป็นกุญแจอันหนึ่งในการสื่อสารให้เข้าใจกัน โดยทั้งสองแผนก ควรศึกษาพื้นฐานความรู้ ของซึ่งกันและกัน
การที่ฝ่ายไอที รู้ถึงข้อจำกัดของระบบปรับอากาศ การระบายอากาศ ระบบไฟฟ้า หรือ รู้คำศัพท์ง่ายๆ เช่น BTU หรือ Main Braker หรือ ขนาดโหลดของตู้ไฟฟ้ากำลัง ฯลฯ และการที่ฝ่ายบริหารอาคาร ทราบถึง ชนิด และข้อจำกัดต่างๆ ของทางฝ่าย IT หรือศัพท์พื้นฐานง่ายๆ เช่น สาย CAT5 ที่นิยมใช้ในการต่อระบบ LAN หรือ ชนิด Server ต่างๆ จะทำให้การสื่อสารระหว่างทั้งสองฝ่ายเร็ว และถูกต้องแม่นยำขึ้น

การสื่อสารที่ดีนี่เอง เป็นการลบช่องว่าง ที่มักจะเกิดขึ้นในการประสานงานของการทำงานที่มักจะเป็นแบบแบ่งแยกแผนกกัน
ผลจากการที่มีการสื่อสารที่ดี การตัดสินใจใดๆ ก็จะมีความถูกต้อง แม่นยำขึ้นไปด้วยในที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อคุยกันรู้เรื่อง และต่างฝ่ายต่างเข้าใจในข้อจำกัดของแต่ละฝ่ายแล้ว
ประโยชน์ขององค์กร และ ความสุขในการทำงานร่วมกัน
ย่อมเกิดขึ้นได้อย่างไม่ยาก

Thursday, January 04, 2007

ช่วยกันนะครับ checkairport.com

สนามบินสุวรรณภูมิ น่าจะเป็น ความภูมิใจของชาวไทยทุกคน
แต่ที่ผ่านมา ยังมีงานที่ต้องแก้ไขอีกมาก
มาร่วมกันส่งเสียง ออกความเห็น แสดงความรู้สึก
ทุกเสียงจะถูกฟัง และนำไปสู่ทางแก้ไข
เพื่อความภูมิใจของชาวไทยเรา
ยิ่งกว่านั้น เพื่อสมพระเกียรติ
นามพระราชทาน
"สุวรรณภูมิ"

เข้าเวป checkairport.com