Friday, May 19, 2006

FM สำหรับพิพิธภัณฑ์ หรือ หอศิลป

แนวทางการบริหารจัดการทรัพยาการกายภาพสำหรับอาคารประเภทพิพิธภัณฑ์ หรือ หอศิลป

งานการบริหารทรัพยากรกายภาพที่เกี่ยวข้องกับอาคารประเภทพิพิธภัณฑ์ หรือหอศิลปนั้น จะมุ่งเน้นไปที่สภาพทางกายภาพของตัวอาการมากกว่าด้านอื่น ๆ หรือเรียกว่า การบริหารอาคาร (Building Management)
ปัญหาที่พบกันบ่อยๆ ในอาคารที่จะกล่าวถึง อาจเริ่มตั้งแต่จุดเล็กๆ น้อยๆ จากสิ่งที่เห็นชัด ๆ เช่นงานสถาปัตยกรรม งานพื้น ผนัง หากมีความไม่สมบูรณ์ เช่น สีลอกล่อน กระเบื้องกรุผนังหลุด หรืองานระบบไฟฟ้า ดวงโคมไฟฟ้าสกปรก ดวงไฟติดๆ ดับ ๆ หรือแม้แต่กลิ่นเหม็นโชยจากห้องน้ำ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นการลดทอนคุณค่า และบั่นทอนอารมณ์ในการเสพงานศิลปะของผู้เข้าชม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัญหาทางงานด้านสถาปัตยกรรมนั้น สามารถป้องกันได้ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ เช่น การออกแบบให้ง่ายต่อการบำรุงรักษา ง่ายต่อการทำความสะอาด หรือ แม้กระทั่งการก่อสร้างอย่างได้มาตราฐาน

หากกลับมามองด้านผู้ใช้อาคารแล้ว นอกจากผู้เข้าชม ซึ่งเป็นผู้ใช้อาคารกลุ่มหลัก ที่ต้องมีการจัดการเรื่องทางเดิน ระบบการจัดแสดง ฯลฯ แต่ต้องไม่ลืมสิ่งต้องต้องอยู่ในอาคารตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง นั่นคือ งานศิลปะ หรือ วัตถุที่จัดแสดง
ตัวอาคารแสดงศิลปะ หรือพิพิธภัณฑ์ มีความสำคัญมากในการปกป้องตัวงานศิลปะ และส่งเสริมคุณค่าของตัวงาน ซึ่งขั้นตอนที่สำคัญ ต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบเช่นเดียวกับงานสถาปัตยกรรม ว่าได้มีการแก้ปัญหา หรือป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้อย่างครบถ้วนหรือไม่
แต่อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าการออกแบบคือ การบริหารจัดการอาคาร มีความเป็นไปได้สูงที่ อาคารดี ๆ แต่ถูกใช้ หรือถูกบริหารจัดการไม่ถูกต้อง ปัญหาย่อมเกิดขึ้นอย่างมากมาย แต่กลับกัน อาคารที่ไม่ดี หรือไม่ได้ออกแบบ หรือไม่มีความพร้อมเพื่อจัดแสดงงานศิลปะ หากบริหารจัดการอย่างถูกต้อง อาจกลายมาเป็นอาคารที่เหมาะสมต่อการจัดแสดงงานมากกว่าอาคารที่ออกแบบมาเพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์

การบริหารจัดการอาคาร สิ่งที่ต้องคำนึงถืงเป็นหัวข้อแรก ๆ คือ สภาพแวดล้อม ซึ่งสภาพแวดล้อมนี่เอง มีหลายปัจจัยที่มีผลกระทบกับตัวงานศิลปะ เช่น แสง ฝุ่นละออง ความชื้น อุณหภูมิ ฯลฯ
แสง จริงอยู่ที่ภาพเขียนบางประเภท จะมีความเหมาะสมที่แสดงภายในแสงธรรมชาติ แต่ควรเป็นแสงแดดโดยอ้อม (Indirect Light) หรือแสงที่กระจากจากการตกกระทบมาก่อน แต่แสงแดดโดยตรง (Direct Light) มีโอกาสทำความเสียหายให้กับงานบางประเภท และงานประเภทภาพเขียนบางชนิด มีความไวต่อรังสี อุลตร้าไวโอเลท (Ultra Violet-UV) มาก ควรจัดแสดงในห้องพิเศษ การจัดแสดงควรเป็นห้องสลัว มีการเลือกใช้ดวงไฟที่ฉายแสงกรองยูวี (UV) ให้กับตัววัตถุ
ฝุ่นละออง แม้ว่ากรรมวิธีทำความสะอาดงานศิลปะที่ก้าวหน้าไปมากแล้วนั้น แต่การป้องกัน หรือลดโอกาสให้งานศิลปะสัมผัสฝุ่นละอองย่อมเป็นวิธีการที่ดีกว่า ยิ่งงานแนวที่มีลักษณะเฉพาะตัว เช่น แนว Action painting หรือ “Gestural abstraction” ที่มีการใช้สีหนา ๆ มีมิติในงานภาพเขียน เช่น งานของ แจ๊กสัน พอลลอค (Jackson Pollock) การทำความสะอาดย่อมเป็นไปได้ยากมาก
ความชื้น ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น ความชื้นนี่เองที่เป็นปัญหาในหลายๆ จุด ตั้งแต่ตัวอาคาร เช่น ผนังเป็นคราบ สีขึ้นรา หรือลอกร่อน กระเบื้องกรุผนังหลุด พื้นไม้โก่ง หรือพื้นปาร์เก้ระเบิด พื้นหินแกรนิต หรือหินอ่อนเป็นคราบฝังลึก วงกบประตูผุกร่อน ฯลฯ หากความชื้นนี้ เข้าไปในส่วนจัดแสดง หรือ ส่วนเก็บงานศิลปะแล้ว ความเสียหายจะเกิดกับตัวงานศิลปะ ได้ง่ายและเร็วกว่าตัวอาคารหลายเท่านัก
อุณหภูมิ อาจไม่สามารถทำลายงานศิลปะได้โดยตรง แต่อุณหภูมินี้ เป็นตัวแปรที่สำคัญเมื่อประกอบกับความชื้น เช่น ในวันฝนตก มักเห็นหยดน้ำเกาะตามประตูหน้าต่างในห้องปรับอากาศที่เย็นจัด หากหยดน้ำเหล่านั้นไปเกาะที่ภาพเขียนคงไม่ดีแน่

ปัญหาทั้งหมดนี้ หากเป็นพิพิธภัณฑ์ทางประเทศตะวันตก สามารถแก้ไขด้วยเทคโนโลยี เช่น ระบบเปลือกอาคารที่ทันสมัยเครื่องวัดความชื้น เครื่องวัดระดับของแสง เครื่องปรับอุณหภูมิและระดับความชื้น หรือแม้แต่ตัวอาคารที่สามารถปรับระดับแสงให้เหมาะสมหลังจากได้ผลจากการอ่านค่าของเครื่องวัดความเข้มแสง แน่นอนว่าระบบ และเครื่องมือเหล่านี้มีราคาแพง บางทีอาจมีราคาสูงพอ ๆ กับตัวอาคารเลยทีเดียว
สำหรับประเทศไทย การซื้อ หรือจัดหาระบบในการจัดการสภาพแวดล้อมในอาคาร หรือเทคโนโลยีอาคารสูง ๆ สำหรับอาคารประเภทพิพิธภัณฑ์ คงเป็นไปได้ยาก เพราะแม้แต่งบประมาณเพื่อจะก่อสร้างตัวอาคารเอง ยังแทบไม่ได้รับความสำคัญจากหลายๆ ฝ่าย
แต่เมื่อขาดงบประมาณ ขาดการส่งเสริมจะทำให้เกิดความเพิกเฉย หรือการสิ้นหวังในวงการศิลปนั้น อาจไม่ถูกต้อง แต่อยู่ที่เราควรหันกลับมามองในทรัพยากร ในสิ่งที่เรามีอยู่ บำรุงรักษาอาคารพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่ ใช้ และบริหารจัดการให้เหมาะสม ภายใต้ทรัพยากรที่เราพอจะหาได้ บวกความรู้พื้นฐาน สรรหาทางออก และทางแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม อาจเริ่มจากการเพิ่มความสนใจ ความใส่ใจ และตรึกตรองกับสิ่งที่เป็นอยู่ ในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการจัดการบริหารอาคาร เช่น
การทำความสะอาด
การทำความสะอาด แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ ที่หลายคนคิดว่าไม่สำคัญ แต่ที่จริงแล้ว อาคารจำพวกพิพิธภัณฑ์ การทำความสะอาด ควรมีการคำนึงถืงมาก เช่น ควรเลี่ยงการทำความสะอาดแบบใช้ไม้กวาด เพราะการกวาดแม้จะเก็บกวาดฝุ่นละอองที่มีอณูใหญ่ได้ แต่กลับจะเป็นการพัดฝุ่นละอองที่มีอณูเล็ก ลอยขึ้นปนในอากาศ และมีโอกาสเกาะกับงานศิลปมากกว่า การเช็ดถู หรือดูดฝุ่น
แต่การทำความสะอาดด้วยการเช็ดถู ก็ไม่ควรใช้น้ำ หรือถูแบบเปียก เนื่องจาก น้ำระเหยจากพื้นจะเป็นการเพิ่มปริมาณความชื้นให้กับอากาศในห้องแสดง และมีโอกาสทำให้งาน หรือวัตถุจัดแสดงบางประเภท เสียหายได้
ระบบไฟส่องสว่าง
ระบบไฟส่องสว่างในอาคารพิพิธภัณฑ์ มักจะมีความพิเศษกว่าระบบที่ใช้ในบ้านพักอาศัย หรืออาคารสำนักงานทั่วไป ที่นิยมใช้คือ หลอดใส้ (Incandescent) หรือหลอดฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent) ซึ่งหลอดและโคมทั้งสองชนิดนี้ ไม่เหมาะสำหรับงานพิพิธภัณฑ์เนื่องจากมีค่าแสดงสีตามจริง (Color Rendering) ต่ำ สีอาจมีความผิดเพี้ยนสูง ฉนั้นดวงโคม และหลอดไฟประเภทฮาโลเจน (Halogen) จึงเป็นที่นิยมใช้กันเพราะมีค่าแสดงสีสูงกว่า
หลอดฮาโลเจน มีความพิเศษตรงที่มีความร้อนสูง ตัวหลอดจึงต้องการการระบายความร้อนที่ดี หากผิวหลอดมีฝุ่นเกาะ หรือมีคราบมันจากรอยนิ้วมือที่อาจเกิดจากตอนเปลี่ยนหรือทำความสะอาดหลอด อาจทำให้การระบายความร้อนไม่ดี และจะทำให้อายุการใช้งานสั้น ในบางกรณีหลอดอาจระเบิด หรือไฟลุกไหม้ได้
ระบบปรับอากาศ
เริ่มแรก อาคารจะต้องมีการออกแบบ และจัดวางเครื่องปรับอากาศให้ทั่วถึง และพอเพียง การคำนวนจำนวนตัน หรือบีทียู (BTU) ต่อพื้นที่ต้องเพียงพอ หากไม่เพียงพอจะทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักเกินกว่าที่ควรจะเป็น และเป็นเหตุให้มีอายุการใช้งานสั้นลง และเสียบ่อยขึ้น หากเป็นระบบเครื่องปรับอากาศรวม (Central System) แล้ว ค่าซ่อม หรือ ค่าเปลี่ยนระบบ จะมีราคาสูงมาก
ตำแหน่งการจัดวางระบบปรับอากาศก็มีความสำคัญ เช่น หากช่องเป่าลมเย็นจากระบบปรับอากาศอยู่ใกล้กับตัวงานศิลปะ และทำให้ตัวงานศิลปะ หรือตัววัตถุจัดแสดงมีความเย็นจัด จะมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีหยดน้ำเกาะที่ตัวงานศิลปะ หากอากาศมีความชื้น เช่นจากการเปิดปิดประตูในวันฝนตก หรือจากเหงื่อของผู้เข้าชม ยิ่งไปกว่านั้นการเปิดหน้าต่างในเวลากลางคืน เป็นการนำความร้อน และความชื้น เข้ามาสะสมในห้อง ทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักในเช้าวันรุ่งขึ้นเช่นกัน
พิพิธภัณฑ์หลายที่ ได้มีการเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมในแง่ ความชื้น และอุณหภูมิ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับงานศิลปะอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผู้บริหารอาคารอาจมองว่าเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า
สำหรับอาคารพิพิธภัณฑ์ที่มีการเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงนั้น มักนิยมที่จะลดจำนวนการเปิดเครื่องปรับอากาศในเวลากลางคืน เนื่องจากในเวลากลางคืน ความร้อน และความชื้นจากผู้เข้าชม และการเปิดปิดประตูอาคารมีน้อยครั้งลง จึงสามารถลดการเปิดเครื่องปรับอากาศให้เหลือแค่ประมาณหนึ่งในสามของเครื่องปรับอากาศทั้งหมดได้ และอาจต้องมีการคำนวน และจดบันทึก ให้มีการเปิดสลับให้ทั่วถึง เพื่อให้เป็นการเฉลี่ยการใช้งานให้ทุกเครื่องมีการทำงานที่เท่าๆ กัน

ในเรื่องบริหารจัดการงานระบบอาคาร เช่นระบบเครื่องปรับอากาศตามที่ได้ยกตัวอย่างไป หลักการง่ายๆ ต้องเริ่มจาก “การใช้งานให้ถูกต้อง” และตามด้วย “การดูแลรักษาที่พอเพียง” โดยทั่วไปแล้ว เครื่องปรับอากาศจะใช้พลังงานไฟฟ้า ในงานหลักสองส่วนคือ การทำความเย็น และรีดความชื้น ฉนั้นแนวความคิดหลักคือ การใช้งานที่ถูกต้องคือ การป้องกันความชื้น และความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร เช่นลดการเปิดปิดประตูบ่อย ๆ หรือ มีประตูสองชั้น หรือเลี่ยงการทำความสะอาดแบบเปียก ฯลฯ จะช่วยลดการสิ้นเปลืองพลังงานจากเครื่องปรับอากาศได้พอสมควร

ส่วนในเรื่อง “การดูแลรักษาที่พอเพียง” ต้องเริ่มจากการมีตารางเวลาการตรวจสอบ และซ่อมบำรุงในแต่ละอุปกรณ์ที่สม่ำเสมอ โดยแนวความคิดหลัก ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า หากปล่อยให้อุปกรณ์เสียแล้วนั้น ค่าซ่อมให้กลับมาใช้งานได้ จะแพงกว่าค่าบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ หลายเท่า ยิ่งไปกว่านั้น การปล่อยให้อุปกรณ์เสียบ่อยๆ จะทำให้อายุการใช้งานสั้นลงอย่างรวดเร็ว และการเปลี่ยน และติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ทดแทนอุปกรณ์เดิม จะยิ่งแพงกว่าค่าซ่อมไปอีกหลายเท่า

เมื่ออาคารประเภทหอศิลป และพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยนั้นมีจำนวนน้อย และกว่าจะมีงบประมาณ หรือผู้เห็นความสำคัญในการก่อสร้างอาคารชนิดนี้ ก็เป็นเรื่องที่ยากเต็มที ฉนั้น อาคารประเภทนี้ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน คงเปรียบได้กับ “ของมีค่า” ที่อยู่ในมือเรา
เมื่อเรามี “ของมีค่า” เราจึงควรดูแลรักษา “ของมีค่า” นั้นให้อยู่กับเราไปนานๆ แม้ว่าท่ามกลางสภาพ เศรษฐกิจ สังคมในปัจจุบัน ที่ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นเงินเป็นทองไปหมด ถ้าเราจะรอคอยแต่เทคโนโลยีระดับสูงจากต่างประเทศมาแก้ปัญหา ก็คงจะเป็นทางออกที่ไม่เหมาะสมนัก

ทางออกจึงน่าจะอยู่ที่ เราคิด เราใส่ใจกับ “ของมีค่า” ของเราให้มากขึ้น ใช้ความรู้ และสติปัญญามองปัญหา และมองทางแก้ปัญหาภายใต้ทรัพยากรที่เราพอมี และมีศักยภาพที่จะหามาได้
จากนั้นเราคงจะได้ชื่นชมของมีค่าของเราได้อีกนานๆ อย่างพอเพียง ไม่หรุหรา แต่ยั่งยืน

Monday, February 13, 2006

ความผิดพลาดที่น้อยนิดแต่มหาศาล

ณ สมาคมสถาปนิกสยาม
ในการบรรยายกรณีศึกษาอุบัติภัยจากเพลิงไหม้อาคาร และตึกถล่ม
วิทยากรได้ให้ข้อสรุปว่า

"หมอทำผิดพลาดต่อคนไข้ คนตายหนึ่งเดียว
แต่สถาปนิก วิศวกรทำผิดพลาด คนตายเป็นร้อย"

มีวิทยากรอีกท่าน กล่าวต่อว่า
"สถาปนิก วิศวกรทำผิดพลาด คนตายเป็นร้อย"
แต่นักการเมือง นักเศรษฐศาสตร์ ทำผิดพลาด
คนตายกันทั้งชาติ"
เรียกเสียงฮาได้พอสมควรในวันนั้น

วันนี้ก็หัวเราะครับ
แต่เป็น

"หัวเราะร่า น้ำตาริน"

Friday, February 10, 2006

นักเรียน นักวิชาชีพ


นักเรียน ทำถูก ทำดี ได้เกรด
นักวิชาชีพ ทำถูก ทำดี ก็ดีแล้ว

นักเรียน ทำผิด ทุกคนยกโทษ ทุกคนสอน
นักวิชาชีพ ทำผิด งานเสียหาย ทุกคนประนาม

นักเรียน สะสมคำถาม ไม่รู้ก็ถาม
นักวิชาชีพ สะสมคำตอบ ไม่รู้ บอก “ไม่รู้”

นักเรียน จงเป็นคนโง่ จงตักตวงความรู้
นักวิชาชีพ จงเป็นคนฉลาด จงรู้ว่า เรายังไม่รู้อะไร

นักเรียน ขี้โกง เสียการเรียน เสียเวลา
นักวิชาชีพ ขี้โกง เสียจริยธรรม หมดคุณค่าแห่งชีวิต

นักเรียน ผิดพลาด เสียเกรด เสียใจ
นักวิชาชีพ ผิดพลาด เสียอนาคต เสียชีวิต


(ภาพกรณีโรงแรม รอยัล พลาซ่า โคราช ถล่ม)
<ภาพจาก http://www.eit.or.th/engineer/24/images/fig1.jpg>

Wednesday, February 08, 2006

FM “ฟุ่มเฟือย หรูหรา” หรือ “ยั่งยืน พอเพียง”?

หากมองเศรษฐกิจระดับประเทศ ทุกวันนี้ นโยบายการเร่งการส่งออกแบบ “บ้าคลั่ง” ไม่ว่าจะเป็นการเปิด FTA การขายหุ้นในกิจการต่าง ๆ ให้ต่างชาติ เพื่อจุดประสงค์ “ได้เงิน(ใส่กระเป๋าบางตระกูลจนไม่มีที่เก็บ)” หรือ “เร่ง GDP(ได้หน้าได้ตา แต่ชาวไร่ชาวนา ตายหา)”

นักวิชาการหลายคนเตือนว่า เร่งแต่ส่งออก แล้วการนำเข้าไม่ลด เมื่อไร เมื่อนั้น ประเทศไทยก็จนอยู่ดีแหล่ะ

เช่นเดียวกับทรัพยากรอาคาร

เป็นที่รู้กันว่า ในธุรกิจ หรือ วงการราชการ หากมีนโยบายในการลดค่าใช้จ่ายแล้ว ค่าใช้จ่ายด้าน “อาคารสถานที่” เป็นรายการแรก ๆ ที่จะถูกตัดงบประมาณ (ยกเว้นงานสร้างอาคาร ซื้อเครื่องต่าง ๆ ที่จะได้ค่าคอมมิสชั่น ที่มักจะคงที่เสมอนะครับ)

ถูกต้องแล้ว ที่การลดรายจ่าย จะเป็นนโยบายที่มีแนวคิดที่ถูกต้อง แต่ในรายละเอียดในทางที่จะเดินไป อาจเดินไม่ถูกทางบ้าง เดินไปแล้วเหนื่อยบ้าง หรือไม่มีทางให้เดินบ้าง เช่น

ค่างานทำความสะอาด มักจะโดนก่อนเลย ทำความสะอาดจากวันละหน ก็อาจเหลือ สอง สามวันหน ได้มีการคิดจริง ๆ จัง ๆ กันหรือไม่ว่า พนักงานทำความสะอาดแบบไหน ประหยัดคุ้มค่ากว่ากันระหว่างจ้างประจำ หรือจ้างบริษัท

งานซ่อมบำรุง การลดงบประมาณ อาจทำให้งานเริ่มค้าง จนเป็นดินพอกหางหมู อุปกรณ์เมื่อไม่ได้ซ่อมบำรุงอย่างเต็มที่ จะมีการใช้ไฟฟ้าเปลืองกว่าปกติ หรือ “การซ่อมเมื่อเสีย” มีแนวโน้มจะต้องโละทิ้งเร็วกว่า อุปกรณ์ที่ได้รับการซ่อมและบำรุงตามระยะเวลาที่เหมาะสม

ท่ามกลางแนวโน้มที่ค่าไฟจะแพงขึ้น ๆ การรณรงค์ ประหยัดไฟ ก็ได้ผลในระดับหนึ่ง ด้วยการปิดเครื่องปรับอากาศ ปิดไฟ เดินระหว่างชั้นแทนการใช้ลิฟท์ หรือแม้แต่การตั้งธงประกวดหน่วยงาน หรือ แผนกใด ประหยัดไฟได้ ให้มารับรางวัล แต่การที่ใบเสร็จเก็บเงินค่าไฟซับซ้อนกว่าที่จะแยกแยะออกมาให้รางวัลได้ ก็เป็นอุปสรรค์อันหนึ่ง

ประหยัดค่าน้ำ เลือกก๊อกน้ำแบบผสมฟองอากาศ หรือ เซรามิควาวล์(ที่ประเทศไทยผลิตเองได้แล้วนะ ไม่ต้องนำเข้า) เปลี่ยนสุขภัณฑ์เก่า ๆ เป็นแบบประหยัดน้ำ หลากหลายวิธีการลดการใช้น้ำที่แม้ยังไม่แปรรูปการประปา แต่ได้ยินข่าวว่า จะมีการเก็บภาษีการบำบัดน้ำแล้ว (ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง) แต่ค่าน้ำที่สูญเสียมากอีกจุดที่ไม่ได้ตรวจสอบกันคือ การรั่วซึม ไม่ว่าจะเป็นในอาคาร หรือ บริเวณนอกอาคารที่เราดูไม่มีทางรู้

ฯลฯ

การหารายได้จากอาคาร เช่นการเปิดห้องประชุมให้คนนอกเช่าช่วงเย็นวันธรรมดา หรือวันเสาร์อาทิตย์ เพื่อหารายได้ อาจจะยากต่อการยอมรับในหลายหน่วยงาน หรือคิดเงินค่าเช่าจากหน่วยงานในองค์กรกันเอง เพื่อบังคับให้ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า (Charge Back) ก็ยังห่างไกลที่เราจะนำแนวคิดนี้มาใช้กันอย่างจริงจัง ด้วยเหตุผลทางการเมืองภายใน และภายนอก

มีหลายคนกล่าวว่า ผู้ที่จะเรียน FM นั้น น่าจะเป็นผู้ที่เมื่อเห็นการใช้ทรัพยากรอย่างไม่คุ้มค่า จะทนไม่ได้
ผมขอแสดงตน แบบถ่อมตัวว่า ผมเป็นคนนึงที่เป็นแบบนี้มานานแล้ว

"ประหยัดไฟ ประหยัดน้ำ ประหยัดพื้นที่ จะประหยัดชาติได้นะครับ จริง ๆ ผมเชื่อ"

Monday, February 06, 2006

FM กับสถาปนิก ใครใหญ่กว่ากัน?

เป็นคำถามที่ล่อเป้าจริงๆ คำตอบแบบฟังธงคงยากน่าดูครับ แต่ขออธิบายเล่าเรื่องผสมตัวอย่างดังนี้แล้วกัน

เดิมทีแต่ก่อน การออกแบบโครงการ หรือลักษณะองค์กรนั้นยังไม่ซับซ้อน และไม่ใหญ่โตเท่าไหร่ รูปแบบการทำงานจะออกมาในรูป เจ้าของโครงการ (เจ้าของเงินทุน) เรียกสถาปนิกมาคุย ว่าอยากได้นั่น อยากได้นี่ หรือมีภาพในหัวคร่าว ๆ จากนั้น สถาปนิกจะสร้างฝันในจินตนาการเหล่านั้น ให้เป็นแบบสองมิติ เพื่อนำไปสร้างเป็นโครงการต่อไป
เวลาผ่านไป เจ้าของเงินทุน องค์กรต่าง ๆ เริ่มมีการทำงาน และต้องการพื้นที่ใช้สอยที่ซับซ้อนขึ้น รูปแบบอาคารเริ่มซับซ้อนขึ้น มีเทคโนโลยีมากขึ้น ความเข้าใจในการสื่อสารระหว่างคนสองฝ่าย (เจ้าของโครงการ และสถาปนิก) ก็เริ่มมีข้อจำกัด และเข้าใจกันได้น้อยลง
Facilities Manager ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทตรงนี้ โดยเป็นผู้สื่อสารระหว่างคนทั้งสองกลุ่ม โดยถ่ายทอดความต้องการต่าง ๆ ของเจ้าของโครงการ หรือองค์กรนั้น ๆ ออกมาเป็นโจทย์ให้สถาปนิก โดย Facilities Manager จะอ่านความต้องการออกมาเป็นโจทย์นั้น ต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในตัวโครงการอย่างดี การทำงานตรงนี้ เรียกว่า Facilities Programming

Facilities Programming นี้ มีหลายระดับมาก ตั้งแต่กำหนดว่าโครงการนี้ จะต้องทำอะไร ด้วยเหตุผลอะไร เช่น หากองค์กรหนึ่ง เติบโตขึ้น จำเป็นต้องรับพนักงานใหม่ หรือ เปิดแผนกใหม่ ตัว Facilities Manager เอง ต้องรู้ว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง เช่น สรุปแล้วทางองค์กร ต้องการพื้นที่เพิ่ม ๑,๕๐๐ ตารางเมตร และพื้นที่ในอาคารเดิมก็ถูกครอบครองเต็มพื้นที่แล้ว โดยทางเลือกในการหาพื้นที่เพิ่มนี้ อาจมีทางเลือกดังนี้คือ

๑. ๑,๕๐๐ ตารางเมตร อาจหาได้จาก "การปรับปรุง" พื้นที่ในอาคารที่มีอยู่แล้ว เปลี่ยนรูปแบบเฟอร์นิเจอร์ของพนักงานในแผนกเดิมให้มีประสิทธิภาพในการใช้พื้นที่มากขึ้น

๒. ๑,๕๐๐ ตารางเมตร อาจหาได้จาก"การปรับเปลี่ยน"รูปแบบของการทำงานของบางแผนก เช่นฝ่ายขาย และติดต่อลูกค้า ที่มักจะไม่อยู่ในสำนักงาน ให้พื้นที่เหล่านั้นเป็นลักษณะ "Space Hoteling" อธิบายคร่าว ๆ คือการเตรียมโต๊ะว่าง ๆ และอุปกรณ์สำนักงานส่วนกลางไว้ให้ เช่น คอมพิวเตอร์ ปรินท์เตอร์ กระดาษ ปากกา โทรศัพท์ โทรสาร สายอินเตอร์เนท กาแฟ ฯลฯ ให้พนักงานเหล่านั้น มาแต่ตัว หรือนำคอมพิวเตอร์ส่วนตัวมา โดยสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เหล่านั้นและสามารถทำงานได้ทันที ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ประจำ

๓. ๑,๕๐๐ ตารางเมตร อาจหาได้จาก"การเช่า"พื้นที่สำนักงานที่ใดที่หนึ่ง ในทำเลที่เหมาะสม เช่น หากจะเพิ่มฝ่ายบริการลูกค้าก็ควรอยู่ในทำเลที่มีที่จอดรถ หรือมีการคมนาคมที่สะดวก โดยการเลือกทำเลเหล่านี้ การพิจารณาก็จะอยู่ในขอบข่ายหน้าที่ของ Facilities Manager เช่นเดียวกัน

๔. ๑,๕๐๐ ตารางเมตร หาได้จาก"การสร้าง"อาคารใหม่ในทำเลที่เหมาะสม เช่น องค์กรมีที่ดินว่างอยู่ และอยู่ในทำเลที่เหมาะสม การสร้างอาคารนั้น อาจมีแนวคิดที่จะสร้างเพื่อการรองรับการขยายตัว เช่น Facilities Manager ร่วมกับ ทางผู้บริหารองค์กรวิเคราะห์แล้ว ว่า ภายในห้าปี หรือ สิบปี องค์กรจะขยายตัวเพิ่มอีก ก็อาจสร้างอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยเผื่อพื้นที่ไว้ในทีเดียว และภายในปีแรก ๆ อาจปล่อยให้สำนักงานอื่นมาเช่าก่อน เพื่อเป็นการหารายได้ ให้องค์กรอีกทางหนึ่ง

๕. ๑,๕๐๐ ตารางเมตร หาได้จาก"การซื้อ"อาคารที่มีอยู่แล้ว

๖. ฯลฯ

ทางเลือกต่าง ๆ เหล่านี้ ทางเลือกที่ดีที่สุด คุ้มค่าที่สุด จะต้องเป็นการตัดสินใจของ Facilities Manager ร่วมกับผู้บริหาร ซึ่งกระบวนการต้องผ่านการเก็บข้อมูลดิบ วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล ประมวลออกมาเป็นข้อดี ข้อเสีย ในแง่ และมิติต่าง ๆ เช่น ทางการเงิน ทางภาพลักษณ์องค์กร การดำเนินงานภายใน ฯลฯ
ทั้งหมดนี้ ก็เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของ Facilities Programming พูดง่าย ๆ ให้เห็นภาพก็คือการกำหนดโจทย์ให้กับสถาปนิก ว่าโครงการนี้ ต้องการห้องอะไร จำนวนเท่าไหร่ ขนาดแค่ไหน รองรับผู้ใช้กลุ่มไหน มีความสัมพันธ์กันระหว่างพื้นที่ หรือ แผนกในโครงการนั้นอย่างไร ฯลฯ
เมื่อสถาปนิกได้โจทย์แล้ว ก็ต้องแก้โจทย์ ก็คือการออกแบบนั้นเอง โดยสถาปนิกจะต้องทำงานร่วมกับ Facilities Manager ในขอบเขตที่โจทย์กำหนด โดยเป็นไปได้ตั้งแต่ ออกแบบอาคาร (ในกรณีที่สร้าง) ออกแบบภายใน วางผังพื้น จนไปถึงการเลือกรูปแบบเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งตรงนี้ สถาปนิก หรือ ผู้ออกแบบภายในจะเป็นผู้นำแนวคิดและทางแก้ปัญหา เสนอแนะกับ Facilities Manager
หากทั้งคู่ทำงานกันอย่างสอดประสานกันแล้ว ความสำเร็จของโครงการนั้น ๆ จะอยู่ไม่ไกลเลยทีเดียวครับ ความสำเร็จนี้ไม่ได้หมายถึง อาคารสวยงาม มีประโยชน์ใช้สอยครบถ้วนแค่นั้นนะครับ แต่จะรวมไปถึงการง่ายต่อการบำรุงรักษา และตอบสนองประโยชน์ใช้สอยในระยะยาวด้วยหากมีการขยับขยาย


"คำถามแรกที่ว่า ใครใหญ่กว่ากัน ก็ไม่มีคำตอบนะครับ
แต่เอาเป็นว่าต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดดีกว่าครับ"

Sunday, February 05, 2006

FM vs BM (Building Management)

BM คือ Building Management หรือ ที่เรียกว่า Building Maintenance and Operation นั่นเอง อันนี้เป็นส่วนหนึ่ง (และส่วนใหญ่ ๆ) ของ FM นั่นเอง ซึ่งจะอยู่ในงานขาที่ ๓ ของงานหลักทั้งสี่ ของ FM (ดูที่ Facilities Manager ทำอะไร?)

FM vs CM เกี่ยวกันยังไง?

CM หรือ Construction Management
เมื่อมีงานก่อสร้างที่ไหน ก็(อาจ)มี CM เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งหน้าที่ CM คือ จัดการงานก่อสร้างให้เป็นไปตาม งบประมาณ และเวลาที่มีจำกัด
CM จะเกี่ยวกับ FM ในกรณีที่มีการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงห้องประชุมเล็ก ๆ จนไปถึงงานก่อสร้างอาคารใหญ่ๆ โดยที่ FM จะเป็นผู้ประสานงาน และร่วมกันกำหนดกรอบเรื่อง วิธีการ เวลา และงบประมาณในงานก่อสร้างกับ CM เช่น อาคารสำนักงานสิบห้าชั้น ที่บริหารโดย FM มีปรับปรุงพื้นที่สำนักงานบริเวณชั้นแปด การประสานงานที่จะเกิดขึ้นอาจเป็นดังนี้
- FM จะต้องประสานงานกับ CM เช่น จะนำวัสดุเข้า ออก เวลาใด หรือ จะมีการทำงานที่มีเสียงดัง เช่น งานทุบ งานเจาะ ในวันใด หากต้องเลี่ยงไปทำงานที่ก่อให้เกิดเสียงในในวันเสาร์อาทิตย์ จะกระทบกับตารางเวลา และราคาการก่อสร้างแค่ไหน
- หากมีการรบกวนผู้ใช้อาคารในชั้นอื่น เช่น จำเป็นต้องมีการปิด และลดจำนวนลิฟท์โดยสารหลัก เพื่อใช้ในงานก่อสร้าง หรือ การกันที่จอดรถสำหรับงานก่อสร้างบริเวณข้างอาคาร ฯลฯ เหล่านี้ FM จะต้องเป็นผู้แจ้ง และประสานงานกับผู้ใช้อาคารที่เหลือทั้งหมด
- FM จะต้องกำชับเรื่องความสะอาด หรือจัดการให้มีการทำความสะอาดในบริเวณที่จะมีผลกระทบกับผู้ใช้อาคารจากงานก่อสร้างด้วย
- ฯลฯ
อีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อบริษัท หรือ องค์กรหนึ่งมีความต้องการพื้นที่ และมีความเห็นว่าจะต้องสร้างอาคารใหม่ การประสานงานระหว่างกลุ่มคนทั้งสอง อาจเป็นดังนี้
- FM ขององค์กรนั้น จะต้องประสานงานกับ CM ในเรื่องการบริหารเวลา
- เป็นไปได้ที่ FM จะลงลึกถึงกำหนดกรอบค่าก่อสร้าง
- ฯลฯ

ดังตัวอย่างทั้งสองนี้ FM แทบจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ CM เลย หากไม่มีงานก่อสร้าง หรือปรับปรุงเกิดขึ้น แต่เมื่อใด มีงานก่อสร้างหรือปรับปรุงเกิดขึ้น การประสานงานกันอย่างใกล้ชิดของทั้งสองฝ่าย จะนำไปสู่การทำงานที่สะดวก และลดอุปสรรค์ร้อยแปดประการที่มักเกิดในงานก่อสร้างได้อย่างมากทีเดียว

Facilities Manager ทำอะไร?

ตามความเข้าใจผม งานหลัก ๆ ของ ผู้บริหารจัดการทรัพยากรกายภาพนี้ มีหน้าที่ในการดูภาพรวมของการบริหารทรัพยากรอาคาร ซึ่งจะมีงานหลัก ๆ เปรียบเหมือนขาสี่ขา คือ
๑.บริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์(Property Management)
๒.บริหารจัดการพื้นที่ใช้สอย(Facilities Planning)
๓.บริหารจัดการงานบำรุงรักษาอาคาร(Facilities Operations and Maintenance)
๔.บริหารจัดการงานบริการที่เกี่ยวข้อง (Facilities Support Service)

บริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ (Property Management)
หมายถึง การดำเนินนโยบาย เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจในการจัดหาอาคาร หรือ สถานที่ เพื่อการใช้ดำเนินธุรกิจ เช่น การเช่า การซื้อ หรือ การสร้าง เพื่อให้สามารถใช้อสังหาริมทรัพย์นั้น ๆ อย่างคุ้มค่า และสนองประโยชน์สูงสุดกับองค์กร (ไม่เกี่ยวกับการเก็งกำไรที่ดิน หรืออาคาร)

บริหารจัดการพื้นที่ใช้สอย (Facilities Planning)
หมายถึง การกำหนดนโยบาย และแผนงานในการใช้พื้นที่อาคาร และสถานที่ให้ได้ตรงตามเป้าหมายขององค์การ และมีความคุ้มค่า และตอบสนองประโยชน์สูงสุดกับองค์กร ประโยชน์สูงสุดในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า ใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้ว อย่างแออัดจะได้ประโยชน์สูงสุด หากแต่ใช้ได้ตอบสนองรูปลักษณ์ และการดำเนินงานขององค์กร

บริหารจัดการการบำรุงรักษาอาคาร (Facilities Operations and Maintenance)
หมายถึง การกำหนดนโยบาย และแผนงานในงานด้านการบำรุงรักษา เป้าหมายคือ การประหยัดค่าบำรุงรักษา และยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์อาคาร ซึ่งนำไปสู่ การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) หรือการบำรุงรักษาเชิงคาดการได้ (Predictive Maintenance) ในการตัดสินใจด้านนี้ ต้องอาศัยความรู้หลักด้านงานระบบ ประกอบกับการจดบันทึกข้อมูล และการวิเคราะห์สถิติต่าง ๆ ประกอบกัน

บริหารจัดการบริการที่เกี่ยวข้อง (Facilities Support Service)
หมายถึง การกำหนดนโยบาย และแผนงานต่อบริการต่าง ๆ ที่มีส่วนสนับสนุนกับการดำเนินงานหลักขององค์กร เช่น ระบบงานรักษาความปลอดภัย งานทำความสะอาด เป็นต้น

แต่งานด้านบริหารจัดการทรัพยากรกายภาพในประเทศไทย อาจยังมีกรอบการทำงานอยู่ในแค่งานด้านบำรุงรักษาอาคาร หรือ การจัดการพื้นที่ใช้สอย (ผมไม่แน่ใจว่า เกิดจากการที่ผู้ที่ไปเรียนต่อทางด้าน FM นี้ ส่วนมากจะเป็นสถาปนิก หรือวิศวกรหรือไม่นะครับ)
ส่วนงานด้านอสังหาริมทรัพย์ และงานจัดการบริการที่เกี่ยวข้อง อาจปล่อยเป็นหน้าที่ของผู้บริหาร หรือ งานธุรการ อยู่ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว หากงานทั้งสี่ส่วน สามารถอยู่ภายใต้การบริหารแบบองค์รวม หรือการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เป้าหมายที่จะได้ "ประโยชน์สุข" จากทรัพยากรอาคารที่มีอยู่ จะอยู่ไม่ไกล

บางส่วนจากหนังสือ "The Facilities Manager's Reference" ของ Prof.Harvey H.Kaiser,Ph.D.

FM (Facilities Managment) คืออะไร?

เป็นคำถามยอดนิยมมาก
Facilities Managment แปลเป็นไทยว่า "การบริหารจัดการทรัพยากรกายภาพ"(จากคำนิยามของ อาจารย์เสริชย์ โชติพานิช แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

หากยังไม่เข้าใจอีก ผมขอสรุปสั้น ๆ ตามความเข้าใจของผมแบบย่อที่สุด เร็วที่สุดดังนี้ครับ

"การบริหารจัดการทรัพยากรกายภาพ เพื่อให้สนองประโยชน์สุข ของเจ้าของทรัพยากรนั้น ๆ"

ถ้าสั้นไป เร็วไป ไม่เข้าใจ ให้ดูขยายความ แปลไทยเป็นไทย ตามนี้ครับ
- "ทรัพยากรกายภาพ"
ความหมายง่าย ๆ ที่เห็นชัดที่สุดคือ อาคาร และพื้นที่ในอาคาร บ้างก็เป็นที่ดิน บ้างก็เป็นส่วนประกอบของอาคาร เช่น เครื่องกลต่าง ๆ ที่ใช้ในอาคาร เฟอร์นิเจอร์ ประตูหน้าต่าง ก๊อกน้ำ โถส้วมฯลฯ
- "ประโยชน์สุข"
ถ้าตามนิยามของตำรา การจัดการแบบตะวันตก ก็อาจเรียกเป็น "ประโยชน์สูงสุด" หากแต่เมื่อพ่วงกลิ่นแนวคิดทางตะวันออกไว้ด้วยแล้ว ประโยชน์สูงสุด แต่เป็นทุกข์ ก็ไม่เรียกเป็นประโยชน์ ผมเลยขอใช้คำว่า "ประโยชน์สุข"
- "เจ้าของทรัพยากร"
คำนี้ มีความหมาย หลายมิติครับ มิติตื้น ๆ คือ ผู้ใช้อาคาร เจ้าของอาคาร มิติที่ลึกและกว้างขึ้นไปอีกสักหน่อย ก็คือ สังคมรอบข้าง เพื่อนบ้าน หรือให้ลึกและกว้างยิ่งกว่านั้นคำว่า "เจ้าของทรัพยากร" อาจหมายความว่า ประชากรของประเทศ หรือ อาจเป็นเพื่อนร่วมโลกเลยก็ได้