Friday, May 19, 2006

FM สำหรับพิพิธภัณฑ์ หรือ หอศิลป

แนวทางการบริหารจัดการทรัพยาการกายภาพสำหรับอาคารประเภทพิพิธภัณฑ์ หรือ หอศิลป

งานการบริหารทรัพยากรกายภาพที่เกี่ยวข้องกับอาคารประเภทพิพิธภัณฑ์ หรือหอศิลปนั้น จะมุ่งเน้นไปที่สภาพทางกายภาพของตัวอาการมากกว่าด้านอื่น ๆ หรือเรียกว่า การบริหารอาคาร (Building Management)
ปัญหาที่พบกันบ่อยๆ ในอาคารที่จะกล่าวถึง อาจเริ่มตั้งแต่จุดเล็กๆ น้อยๆ จากสิ่งที่เห็นชัด ๆ เช่นงานสถาปัตยกรรม งานพื้น ผนัง หากมีความไม่สมบูรณ์ เช่น สีลอกล่อน กระเบื้องกรุผนังหลุด หรืองานระบบไฟฟ้า ดวงโคมไฟฟ้าสกปรก ดวงไฟติดๆ ดับ ๆ หรือแม้แต่กลิ่นเหม็นโชยจากห้องน้ำ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นการลดทอนคุณค่า และบั่นทอนอารมณ์ในการเสพงานศิลปะของผู้เข้าชม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัญหาทางงานด้านสถาปัตยกรรมนั้น สามารถป้องกันได้ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ เช่น การออกแบบให้ง่ายต่อการบำรุงรักษา ง่ายต่อการทำความสะอาด หรือ แม้กระทั่งการก่อสร้างอย่างได้มาตราฐาน

หากกลับมามองด้านผู้ใช้อาคารแล้ว นอกจากผู้เข้าชม ซึ่งเป็นผู้ใช้อาคารกลุ่มหลัก ที่ต้องมีการจัดการเรื่องทางเดิน ระบบการจัดแสดง ฯลฯ แต่ต้องไม่ลืมสิ่งต้องต้องอยู่ในอาคารตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง นั่นคือ งานศิลปะ หรือ วัตถุที่จัดแสดง
ตัวอาคารแสดงศิลปะ หรือพิพิธภัณฑ์ มีความสำคัญมากในการปกป้องตัวงานศิลปะ และส่งเสริมคุณค่าของตัวงาน ซึ่งขั้นตอนที่สำคัญ ต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบเช่นเดียวกับงานสถาปัตยกรรม ว่าได้มีการแก้ปัญหา หรือป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้อย่างครบถ้วนหรือไม่
แต่อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าการออกแบบคือ การบริหารจัดการอาคาร มีความเป็นไปได้สูงที่ อาคารดี ๆ แต่ถูกใช้ หรือถูกบริหารจัดการไม่ถูกต้อง ปัญหาย่อมเกิดขึ้นอย่างมากมาย แต่กลับกัน อาคารที่ไม่ดี หรือไม่ได้ออกแบบ หรือไม่มีความพร้อมเพื่อจัดแสดงงานศิลปะ หากบริหารจัดการอย่างถูกต้อง อาจกลายมาเป็นอาคารที่เหมาะสมต่อการจัดแสดงงานมากกว่าอาคารที่ออกแบบมาเพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์

การบริหารจัดการอาคาร สิ่งที่ต้องคำนึงถืงเป็นหัวข้อแรก ๆ คือ สภาพแวดล้อม ซึ่งสภาพแวดล้อมนี่เอง มีหลายปัจจัยที่มีผลกระทบกับตัวงานศิลปะ เช่น แสง ฝุ่นละออง ความชื้น อุณหภูมิ ฯลฯ
แสง จริงอยู่ที่ภาพเขียนบางประเภท จะมีความเหมาะสมที่แสดงภายในแสงธรรมชาติ แต่ควรเป็นแสงแดดโดยอ้อม (Indirect Light) หรือแสงที่กระจากจากการตกกระทบมาก่อน แต่แสงแดดโดยตรง (Direct Light) มีโอกาสทำความเสียหายให้กับงานบางประเภท และงานประเภทภาพเขียนบางชนิด มีความไวต่อรังสี อุลตร้าไวโอเลท (Ultra Violet-UV) มาก ควรจัดแสดงในห้องพิเศษ การจัดแสดงควรเป็นห้องสลัว มีการเลือกใช้ดวงไฟที่ฉายแสงกรองยูวี (UV) ให้กับตัววัตถุ
ฝุ่นละออง แม้ว่ากรรมวิธีทำความสะอาดงานศิลปะที่ก้าวหน้าไปมากแล้วนั้น แต่การป้องกัน หรือลดโอกาสให้งานศิลปะสัมผัสฝุ่นละอองย่อมเป็นวิธีการที่ดีกว่า ยิ่งงานแนวที่มีลักษณะเฉพาะตัว เช่น แนว Action painting หรือ “Gestural abstraction” ที่มีการใช้สีหนา ๆ มีมิติในงานภาพเขียน เช่น งานของ แจ๊กสัน พอลลอค (Jackson Pollock) การทำความสะอาดย่อมเป็นไปได้ยากมาก
ความชื้น ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น ความชื้นนี่เองที่เป็นปัญหาในหลายๆ จุด ตั้งแต่ตัวอาคาร เช่น ผนังเป็นคราบ สีขึ้นรา หรือลอกร่อน กระเบื้องกรุผนังหลุด พื้นไม้โก่ง หรือพื้นปาร์เก้ระเบิด พื้นหินแกรนิต หรือหินอ่อนเป็นคราบฝังลึก วงกบประตูผุกร่อน ฯลฯ หากความชื้นนี้ เข้าไปในส่วนจัดแสดง หรือ ส่วนเก็บงานศิลปะแล้ว ความเสียหายจะเกิดกับตัวงานศิลปะ ได้ง่ายและเร็วกว่าตัวอาคารหลายเท่านัก
อุณหภูมิ อาจไม่สามารถทำลายงานศิลปะได้โดยตรง แต่อุณหภูมินี้ เป็นตัวแปรที่สำคัญเมื่อประกอบกับความชื้น เช่น ในวันฝนตก มักเห็นหยดน้ำเกาะตามประตูหน้าต่างในห้องปรับอากาศที่เย็นจัด หากหยดน้ำเหล่านั้นไปเกาะที่ภาพเขียนคงไม่ดีแน่

ปัญหาทั้งหมดนี้ หากเป็นพิพิธภัณฑ์ทางประเทศตะวันตก สามารถแก้ไขด้วยเทคโนโลยี เช่น ระบบเปลือกอาคารที่ทันสมัยเครื่องวัดความชื้น เครื่องวัดระดับของแสง เครื่องปรับอุณหภูมิและระดับความชื้น หรือแม้แต่ตัวอาคารที่สามารถปรับระดับแสงให้เหมาะสมหลังจากได้ผลจากการอ่านค่าของเครื่องวัดความเข้มแสง แน่นอนว่าระบบ และเครื่องมือเหล่านี้มีราคาแพง บางทีอาจมีราคาสูงพอ ๆ กับตัวอาคารเลยทีเดียว
สำหรับประเทศไทย การซื้อ หรือจัดหาระบบในการจัดการสภาพแวดล้อมในอาคาร หรือเทคโนโลยีอาคารสูง ๆ สำหรับอาคารประเภทพิพิธภัณฑ์ คงเป็นไปได้ยาก เพราะแม้แต่งบประมาณเพื่อจะก่อสร้างตัวอาคารเอง ยังแทบไม่ได้รับความสำคัญจากหลายๆ ฝ่าย
แต่เมื่อขาดงบประมาณ ขาดการส่งเสริมจะทำให้เกิดความเพิกเฉย หรือการสิ้นหวังในวงการศิลปนั้น อาจไม่ถูกต้อง แต่อยู่ที่เราควรหันกลับมามองในทรัพยากร ในสิ่งที่เรามีอยู่ บำรุงรักษาอาคารพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่ ใช้ และบริหารจัดการให้เหมาะสม ภายใต้ทรัพยากรที่เราพอจะหาได้ บวกความรู้พื้นฐาน สรรหาทางออก และทางแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม อาจเริ่มจากการเพิ่มความสนใจ ความใส่ใจ และตรึกตรองกับสิ่งที่เป็นอยู่ ในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการจัดการบริหารอาคาร เช่น
การทำความสะอาด
การทำความสะอาด แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ ที่หลายคนคิดว่าไม่สำคัญ แต่ที่จริงแล้ว อาคารจำพวกพิพิธภัณฑ์ การทำความสะอาด ควรมีการคำนึงถืงมาก เช่น ควรเลี่ยงการทำความสะอาดแบบใช้ไม้กวาด เพราะการกวาดแม้จะเก็บกวาดฝุ่นละอองที่มีอณูใหญ่ได้ แต่กลับจะเป็นการพัดฝุ่นละอองที่มีอณูเล็ก ลอยขึ้นปนในอากาศ และมีโอกาสเกาะกับงานศิลปมากกว่า การเช็ดถู หรือดูดฝุ่น
แต่การทำความสะอาดด้วยการเช็ดถู ก็ไม่ควรใช้น้ำ หรือถูแบบเปียก เนื่องจาก น้ำระเหยจากพื้นจะเป็นการเพิ่มปริมาณความชื้นให้กับอากาศในห้องแสดง และมีโอกาสทำให้งาน หรือวัตถุจัดแสดงบางประเภท เสียหายได้
ระบบไฟส่องสว่าง
ระบบไฟส่องสว่างในอาคารพิพิธภัณฑ์ มักจะมีความพิเศษกว่าระบบที่ใช้ในบ้านพักอาศัย หรืออาคารสำนักงานทั่วไป ที่นิยมใช้คือ หลอดใส้ (Incandescent) หรือหลอดฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent) ซึ่งหลอดและโคมทั้งสองชนิดนี้ ไม่เหมาะสำหรับงานพิพิธภัณฑ์เนื่องจากมีค่าแสดงสีตามจริง (Color Rendering) ต่ำ สีอาจมีความผิดเพี้ยนสูง ฉนั้นดวงโคม และหลอดไฟประเภทฮาโลเจน (Halogen) จึงเป็นที่นิยมใช้กันเพราะมีค่าแสดงสีสูงกว่า
หลอดฮาโลเจน มีความพิเศษตรงที่มีความร้อนสูง ตัวหลอดจึงต้องการการระบายความร้อนที่ดี หากผิวหลอดมีฝุ่นเกาะ หรือมีคราบมันจากรอยนิ้วมือที่อาจเกิดจากตอนเปลี่ยนหรือทำความสะอาดหลอด อาจทำให้การระบายความร้อนไม่ดี และจะทำให้อายุการใช้งานสั้น ในบางกรณีหลอดอาจระเบิด หรือไฟลุกไหม้ได้
ระบบปรับอากาศ
เริ่มแรก อาคารจะต้องมีการออกแบบ และจัดวางเครื่องปรับอากาศให้ทั่วถึง และพอเพียง การคำนวนจำนวนตัน หรือบีทียู (BTU) ต่อพื้นที่ต้องเพียงพอ หากไม่เพียงพอจะทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักเกินกว่าที่ควรจะเป็น และเป็นเหตุให้มีอายุการใช้งานสั้นลง และเสียบ่อยขึ้น หากเป็นระบบเครื่องปรับอากาศรวม (Central System) แล้ว ค่าซ่อม หรือ ค่าเปลี่ยนระบบ จะมีราคาสูงมาก
ตำแหน่งการจัดวางระบบปรับอากาศก็มีความสำคัญ เช่น หากช่องเป่าลมเย็นจากระบบปรับอากาศอยู่ใกล้กับตัวงานศิลปะ และทำให้ตัวงานศิลปะ หรือตัววัตถุจัดแสดงมีความเย็นจัด จะมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีหยดน้ำเกาะที่ตัวงานศิลปะ หากอากาศมีความชื้น เช่นจากการเปิดปิดประตูในวันฝนตก หรือจากเหงื่อของผู้เข้าชม ยิ่งไปกว่านั้นการเปิดหน้าต่างในเวลากลางคืน เป็นการนำความร้อน และความชื้น เข้ามาสะสมในห้อง ทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักในเช้าวันรุ่งขึ้นเช่นกัน
พิพิธภัณฑ์หลายที่ ได้มีการเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมในแง่ ความชื้น และอุณหภูมิ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับงานศิลปะอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผู้บริหารอาคารอาจมองว่าเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า
สำหรับอาคารพิพิธภัณฑ์ที่มีการเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงนั้น มักนิยมที่จะลดจำนวนการเปิดเครื่องปรับอากาศในเวลากลางคืน เนื่องจากในเวลากลางคืน ความร้อน และความชื้นจากผู้เข้าชม และการเปิดปิดประตูอาคารมีน้อยครั้งลง จึงสามารถลดการเปิดเครื่องปรับอากาศให้เหลือแค่ประมาณหนึ่งในสามของเครื่องปรับอากาศทั้งหมดได้ และอาจต้องมีการคำนวน และจดบันทึก ให้มีการเปิดสลับให้ทั่วถึง เพื่อให้เป็นการเฉลี่ยการใช้งานให้ทุกเครื่องมีการทำงานที่เท่าๆ กัน

ในเรื่องบริหารจัดการงานระบบอาคาร เช่นระบบเครื่องปรับอากาศตามที่ได้ยกตัวอย่างไป หลักการง่ายๆ ต้องเริ่มจาก “การใช้งานให้ถูกต้อง” และตามด้วย “การดูแลรักษาที่พอเพียง” โดยทั่วไปแล้ว เครื่องปรับอากาศจะใช้พลังงานไฟฟ้า ในงานหลักสองส่วนคือ การทำความเย็น และรีดความชื้น ฉนั้นแนวความคิดหลักคือ การใช้งานที่ถูกต้องคือ การป้องกันความชื้น และความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร เช่นลดการเปิดปิดประตูบ่อย ๆ หรือ มีประตูสองชั้น หรือเลี่ยงการทำความสะอาดแบบเปียก ฯลฯ จะช่วยลดการสิ้นเปลืองพลังงานจากเครื่องปรับอากาศได้พอสมควร

ส่วนในเรื่อง “การดูแลรักษาที่พอเพียง” ต้องเริ่มจากการมีตารางเวลาการตรวจสอบ และซ่อมบำรุงในแต่ละอุปกรณ์ที่สม่ำเสมอ โดยแนวความคิดหลัก ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า หากปล่อยให้อุปกรณ์เสียแล้วนั้น ค่าซ่อมให้กลับมาใช้งานได้ จะแพงกว่าค่าบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ หลายเท่า ยิ่งไปกว่านั้น การปล่อยให้อุปกรณ์เสียบ่อยๆ จะทำให้อายุการใช้งานสั้นลงอย่างรวดเร็ว และการเปลี่ยน และติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ทดแทนอุปกรณ์เดิม จะยิ่งแพงกว่าค่าซ่อมไปอีกหลายเท่า

เมื่ออาคารประเภทหอศิลป และพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยนั้นมีจำนวนน้อย และกว่าจะมีงบประมาณ หรือผู้เห็นความสำคัญในการก่อสร้างอาคารชนิดนี้ ก็เป็นเรื่องที่ยากเต็มที ฉนั้น อาคารประเภทนี้ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน คงเปรียบได้กับ “ของมีค่า” ที่อยู่ในมือเรา
เมื่อเรามี “ของมีค่า” เราจึงควรดูแลรักษา “ของมีค่า” นั้นให้อยู่กับเราไปนานๆ แม้ว่าท่ามกลางสภาพ เศรษฐกิจ สังคมในปัจจุบัน ที่ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นเงินเป็นทองไปหมด ถ้าเราจะรอคอยแต่เทคโนโลยีระดับสูงจากต่างประเทศมาแก้ปัญหา ก็คงจะเป็นทางออกที่ไม่เหมาะสมนัก

ทางออกจึงน่าจะอยู่ที่ เราคิด เราใส่ใจกับ “ของมีค่า” ของเราให้มากขึ้น ใช้ความรู้ และสติปัญญามองปัญหา และมองทางแก้ปัญหาภายใต้ทรัพยากรที่เราพอมี และมีศักยภาพที่จะหามาได้
จากนั้นเราคงจะได้ชื่นชมของมีค่าของเราได้อีกนานๆ อย่างพอเพียง ไม่หรุหรา แต่ยั่งยืน