วันหนึ่ง ทางหมู่บ้านอันแสนสงบของผม ก็ส่งจดหมายแจ้งเตือนลูกบ้านว่า ช่วงนี้มีเหตุการณ์โจรกรรมบ่อยครั้งขึ้น
มาตรการของทางกรรมการหมู่บ้าน คือ จัดทำสติกเกอร์ติดรถ พร้อมแจ้งเตือนถึงอาจจะเกิดความไม่สะดวกกับลูกบ้านในการเข้าออก
รวมถึงการให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกวดขันมากขึ้น
การตัดสินใจของกรรมการหมู่บ้าน อาจจะถูกต้องก็ได้ แต่ต้องเกิดภายใต้สมมติฐานที่ว่า
1.มิจฉาชีพ มาทางรถ และมักจะเป็นรถจากคนนอกเท่านั้น
2.มิจฉาชีพ จะไม่ทำการหากมียามเดินไปเดินมาบ่อยขึ้น
สิ่งที่จะตัดสินใจ อาจส่งผลกระทบคือ การที่ รปภ.เดินมากขึ้น เหนื่อยมากขึ้น หากยังใช้กำลังคนเท่าเดิม เทคโนโลยีเดิม
หากการตัดสินใจแก้ปัญหาโดยการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไม่มีพื้นฐานของข้อมูล มีผู้เปรียบไว้ว่า เหมือนอริยสัจ 2 กล่าวคือ ทุกข์ แล้ว มรรค เลย
ซึ่งจะนำไปสู่ความสูญเสีย และไม่มีประสิทธิภาพ
-------------------
บังเอินว่าในจดหมายของกรรมการหมู่บ้าน ได้เปิดช่องให้เสนอความคิดเห็นไว้ด้วย ผมในฐานะลูกบ้าน และพอจะรู้เรื่อง FM บ้าง เลยนำเสนอดังนี้
สำหรับเหตุการลักขโมย หรือโจรกรรมที่เกิดขึ้น เราควรเก็บข้อมูลเรื่องการโจรกรรม เช่น บ้านโซนใด ซอยใด โดนไปบ้าง และมักจะโดนช่วงวันไหน ช่วงไหน เวลาอะไร เสาร์อาทิตย์ หรือวันธรรมดา รวบรวมเป็นแผนที่ และแสดงให้เห็นจุดต่างๆ ถ่ายรูปบ้านลักษณะที่เกิดเหตุ
เมื่อเรารวบรวมแล้ว จะสามารถวิเคราะห์หาที่มา ที่ไป และวิธีการบริหารจัดการหมู่บ้านของเราได้ เช่น ผู้ร้ายมักเข้ามาทางหลังคาด้วยการงัดแผ่นหลังคา และเจาะทะลุฝ้า มิจฉาชีพจะปีนเข้ามาตามรั้วที่เตี้ยกว่า 2 เมตร และมักใช้เส้นทางระหว่างบ้านกับบ้าน ฯลฯ หรือการรวบรวมข้อมูลของบ้านที่มักจะตกเป็นเป้าหมายของคนร้าย เช่น บ้านกลางซอยที่เป็นทางผ่าน (มีข้อมูลจากการวิจัยว่าบ้านซอยตัน โอกาสโดนโจรกรรมน้อยกว่าบ้านที่เป็นซอยผ่าน) ไม่มีเลี้ยงสุนัข รั้วทึบ (มีข้อมูลจากการวิจัยอีกว่า บ้านมีรั้วโปร่งมีโอกาสถูกการโจรกรรมน้อยกว่ารั้วทึบ) มีรถจอดหน้าบ้าน ฯลฯ
ซึ่งหลังจากวิเคราะห์แล้ว จะนำไปสู่การทำเป็นข้อเสนอแนะให้แก่บ้านต่างๆ ในหมู่บ้านเป็นข้อมูลพื้นฐานแบ่งเป็นสามช่วงดังนี้
1.ช่วงการป้องกันเหตุการณ์ เช่น การเปิดหน้าบ้าน การเลี้ยงสุนัข การทำรั้วโปร่ง ฯลฯ
2.ช่วงการประสบเหตุการณ์ เช่น เมื่อรู้ว่ามีผู้ร้ายเข้ามาในบ้านต้องทำอย่างไร เช่น การเปิดไฟสว่าง การส่งเสียงดัง การหลบเข้าห้องที่ปลอดภัย ฯลฯ
3.ช่วงการฟื้นฟูเหตุการณ์ เช่น การแจ้งตำรวจ การเก็บหลักฐาน การป้องกันเหตุเกิดซ้ำ ฯลฯ
ข้อมูลจากการวิเคราะห์นั้น ยังนำไปสู่การจัดการบริการของหมู่บ้านด้วย เช่น จุดล่อแหลมต่างๆ ที่จำเป็นต้องเพิ่มกำลัง และอัตราการปรากฎตัว เพื่อลดโอกาสการเกิดเหตุร้าย ณ เวลาดังกล่าว บริเวณดังกล่าว
การเพิ่มความอุ่นใจระหว่าง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย กับผู้อาศัยในหมู่บ้านก็เป็นเรื่องสำคัญ การทำจดหมายที่มีภาพ แสดงชื่อ ความเชี่ยวชาญ ความสามารถพิเศษ หรือแค่การแนะนำตัวกับลูกบ้านหรือแม้กระทั่งการติดป้ายชื่อเล่นบนหน้าอก ให้ลูกบ้านรู้จักชื่อเจ้าหน้าที่ในขณะที่ทำหน้าที่ปกป้องพวกเรา ก็เป็นการเพิ่มโอกาสปฏิสัมพันธ์ สร้างความคุ้นเคยและเป็นมิตรมากขี้นได้ทางหนึ่ง
การจัดการอาจต้องผนวกเรื่องคน สถานที่ และกระบวนการ มองให้เป็นภาพรวมสำหรับการแก้ปัญหา อาจจะกลับเข้ามาสู่ความมีเหตุผล ที่มาที่ไป ซึ่งจะลดความสูญเสีย และมีประสิทธิภาพได้แน่ๆ ครับ