ช่วงที่ผมยังเรียนปริญญาโททางด้าน FM ที่สหรัฐอเมริกาช่วงประมาณปี 2003 ตลอดสองสามปี นั้น มีคนทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อนี้ หรือ เกี่ยวข้อง ไม่น้อยกว่าห้าคน
สำหรับคนที่ยังไม่คุ้นกับ BCP อาจอธิบายง่ายๆ ย่อๆ ได้ว่า
"เป็นการวางแผนรองรับการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันใดๆ ก็ตามในอนาคต"
คำว่า "ธุรกิจ" ในที่นี้ หมายถึง กิจกรรมที่เป็นหลักขององค์กรนั้นๆ เช่น ธนาคาร คือ การทำธุรกรรมทางการเงิน ตลาดหุ้นคือการซื้อขายหุ้น โรงพยาบาลคือการรักษาชีวิตคนป่วย สถานีตำรวจคือการให้บริการกับประชาชนเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ฯลฯ
ส่วนคำว่า "เหตุการณ์ไม่คาดฝัน" มีตั้งแต่ระดับพื้นๆ เช่น ไฟดับ ไฟไหม้ น้ำท่วม จนไปถึงแผ่นดินไหว โรคระบาด ฯลฯ
คำที่ทุกคนจะพูดถึงในหัวข้อนี้ คงหนีไม่พ้น "ความเสี่ยง" หรือ Risk จนหลายคนบอกว่า BCP เป็นภาคต่อของ Risk Management ซึ่งก็มีส่วนถูกเลยทีเดียว
......
คำถามต่อมาคือ FM (Facilities Management) มายุ่งเกี่ยวอะไรกับ BCP?
แน่นอนว่า ธุรกิจเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ต้องมี Facilities ที่สนับสนุนอยู่ และนี่เอง ที่นัก FM ทั้งหลายจำเป็นต้องมาเกี่ยวข้อง
ยกตัวอย่าง เช่น สำนักงานใหญ่ของธนาคารแห่งหนึ่ง หากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น จนทำให้อาคารที่ทำการหลักนั้นไม่สามารถใช้การได้ จะทำอย่างไร?
ธนาคารนั้นอาจต้องมาใช้สาขาย่อย หรืออาคารใดๆ ที่อยู่ใกล้เคียง โดยจำเป็นต้องมีแผนในการ Backup ข้อมูลที่จำเป็น สร้างระบบเครือข่ายเพื่อตอบสนองในการทำธุรกรรมต่างๆ มีโต๊ะ มีเก้าอี้ มีกระดาษแบบฟอร์มต่างๆ มีระบบโทรศัพท์ แม้กระทั่งมีป้ายแสดงที่ชัดเจน รวมถึงแผนการประชาสัมพันธ์อย่างรวดเร็ว
ธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่เมื่อไม่นานมานี้ในต่างประเทศ และมีในประเทศไทยบ้างแล้วคือ การให้เช่า สำนักงานสำรองพร้อมระบบ Backup ที่พร้อมทุกช่วงเวลาหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น แน่นอนว่า เป็นเงินไม่ใช่น้อยในการซื้อการประกันความเสี่ยงนี้
ทั้งนี้ FM จะเป็นผู้ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจใน BCP รวมไปถึงการคิดความคุ้มค่าต่างๆ ในหัวข้อนี้ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในทุกๆ ทาง
BCP เป็นกระแสที่มาแรง แล้วมันจำเป็นจริงๆ หรือ? ผมสรุปได้ว่า เราควรรู้ไว้ดีกว่า ส่วนฝรั่งหลายประเทศที่ตื่นตูมซะเกินเหตุก็ต้องรู้ไว้ หลายองค์กรที่ประมาท ก็ต้องรู้ไว้ ให้หาจุดยืนของตัวเองให้ดีๆ แค่เพียงเท่านี้
จำเป็นหรือไม่ ต้องทำแค่ไหน ทุกท่านก็คงรู้
และสรุปได้แล้วหล่ะครับ